เมื่อพูดถึงเวอร์เนียหลายคนน่าจะคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดขนาดที่ได้รับความนิยมมากในหลากหลายอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องมือวัดที่วัดขนาดได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัดขนาดภายนอกวัตถุ ภายในวัตถุที่ให้ค่าจากการวัดที่มีความละเอียดเป็นหน่วยมิลมิเมตร (มม.)

เวอร์เนียเป็นอุปกรณ์วัดขนาดได้หลายรูปแบบ และมีสเกล (Scale) วัดที่ค่อนข้างละเอียด โดยในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทั้งแบบดิจิทัลที่แสดงค่าจากการวัดออกมาได้โดยที่ไม่ต้องคำนวณค่าและแบบอนาล็อก

ถ้าเป็นเวอร์เนียแบบอนาล็อก จำเป็นต้องทำความเข้าใจหลักการวัดของเครื่องมือนี้ให้ดีก่อนที่จะนำไปวัดขนาด ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงการนำเวอร์เนียไปใช้งานและการอ่านค่าให้คุณได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ทำความรู้จักกับเวอร์เนีย

เวอร์เนียเป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของเวอร์เนียคาลิปเปอร์ (Vernier Caliper) ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดพื้นฐานใช้ในการวัดระยะห่างของด้านที่อยู่ตรงข้ามกัน วัดได้ทั้งวัตถุที่เป็นทรงกระบอกและทรงตรง โดยหาค่าได้ทั้ง ความหนาบาง ความลึก ความกว้างภายนอก และยังสามารถใช้วัดขนาดความกว้างภายในของวัตถุเพื่อหาความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางได้อีกด้วย

การวัดค่าของเวอร์เนียทำให้ได้ค่าที่ละเอียดออกมาเป็นมิลลิเมตร (มม.) โดยค่าที่เหมาะสมในการวัดมีขนาดตั้งแต่ 0.50 มม. ซึ่งด้วยการที่เวอร์เนียสามารถวัดค่าออกมาเป็นมิลลิเมตรได้ทศนิยมถึง 2 ตำแหน่ง ทำให้ค่าความคลาดเคลื่อนจากการวัดโดยเวอร์เนียมีค่าเพียง 0.05 มม. เท่านั้น

ส่วนประกอบของเวอร์เนีย

หน้าตาของเวอร์เนียคาลิปเปอร์จะคล้ายไม้บรรทัดวัดขนาดทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างที่หัววัดซึ่งสามารถปรับเลื่อนได้ตามขนาดของวัตถุทั้งด้านในและด้านนอก ซึ่งค่าที่อ่านได้จะปรากฏบนสเกลแบบอิมพีเรียล (นิ้ว) และแบบเมตริก (มิลลิเมตร)

ภาพส่วนประกอบเวอร์เนีย

จากภาพแบ่งส่วนประกอบของเวอร์เนียได้ดังนี้

  1. Internal Jaws (ปากวัดภายใน)

ใช้ในการวัดขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางด้านในของวัตถุ โดยด้านแบนจะหันออกด้านนอกให้ประกบกับวัตถุให้สามารถใช้วัดภายในได้ง่าย

  1. External Jaws (ปากวัดภายนอก)

ใช้ในการวัดขนาดของวัตถุจากภายนอก เหมาะกับการใช้วัดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก ความยาว หรือความหนาของวัตถุ โดยเลื่อนด้านที่แบนให้ประกบพอดีกับวัตถุที่ต้องการ

  1. Locking Screw (สกรูล็อค)

ในขณะที่ทำการวัดจะมีการเลื่อนปากวัดให้มีขนาดพอดีกับวัตถุที่ต้องการ เมื่อได้ระยะที่ต้องการแล้วก็ใช้สกรูล็อค เพื่อทำการล็อคปากวัดเอาไว้ไม่ให้ไหลไปจากสเกลที่วัดไว้

  1. Main Scale (สเกลหลัก)

สเกลหลักจะแสดงค่าที่เป็นหน่วยระบบอิมพีเรียล (นิ้ว) ที่อยู่ด้านบน และแบบเมตริก (มิลลิเมตร) ที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งแต่ละขีดบนระบบเมตริกจะมีค่าเป็นมิลลิเมตร

  1. Vernier Scale (สเกลเวอร์เนีย)

สเกลเวอร์เนียเป็นค่าที่บอกเป็นหลักทศนิยม โดยแต่ละขีดมีค่า 0.01 มิลลิเมตร โดยจะทำการอ่านค่านี้หลังจากอ่านค่าบนสเกลหลักแล้วนำมาคำนวณ

  1. Thumb Screw (ปุ่มเลื่อนสเกล)

ปุ่มเลื่อนสเกลช่วยให้การเลื่อนวัดขนาดง่ายขึ้น โดยปรับให้ปากวัดมีขนาดที่พอดีกับขนาดวัตถุที่ต้องการ

  1. Depth Measuring Blade (ปากวัดความลึก)

ใช้ในการวัดความลึกของรูในวัตถุ เพื่อหาค่าความลึกของวัตถุหรือส่วนที่อยู่ลึกบนวัตถุได้ โดยวิธีการการอ่านค่าใช้วิธีเดียวกับปากวัดภายนอก และปากวัดภายใน

 

การอ่านค่าเวอร์เนียแบบอนาล็อก

ค่าที่อ่านได้บนเวอร์เนียมีทั้งแบบอิมพีเรียล (นิ้ว) และเมตริก (มิลลิเมตร) ซึ่งในอุตสาหกรรมทั่วไปในบ้านเราจะนิยมใช้การอ่านแบบเมตริก (มิลลิเมตร) โดยวิธีการอ่านค่าสามารถทำได้ดังตัวอย่างนี้

การอ่านค่าเวอร์เนียแบบอนาล็อก

เมื่อเลื่อนหัววัดให้พอดีกับขนาดวัตถุที่ต้องการวัด จะปรากฏค่าบนสเกล โดยวิธีการอ่านค่าทำได้ 2 วิธี คือ อ่านขีดตามค่าที่เห็นได้เลย หรือนับขีดแล้วนำมาคำนวณ

  1. วิธีอ่านขีดที่แสดงบนสเกล

จากภาพด้านบน ถ้าอ่านค่าด้วยวิธีนับขีดแล้วคำนวณ ให้เริ่มอ่านจากสเกลหลัก (Main Metric Scale) ก่อน โดยดูว่าเลข 0 ที่สเกลเวอร์เนียหยุดอยู่ที่ขีดใดบนสเกลหลัก ซึ่งในภาพคือเลข 0 อยู่เลยจากสเกล 27 มิลลิเมตร แต่ไม่ถึง 28 มิลลิเมตร

ค่าที่ได้จากการอ่านสเกลหลักจะเป็น 27.XX มิลลิเมตร

หลังจากนั้น ให้ดูต่อที่สเกลเวอร์เนียว่าเลขทศนิยมเป็นเท่าไร โดยดูว่าขีดบนสเกลเวอร์เนียขีดใด ที่อยู่ตรงกับขีดบนสเกลหลัก ซึ่งดังภาพขีดที่ตรงกันคือเลข 1 พอดีบนเวอร์เนียสเกล

ทำให้ค่าที่อ่านได้คือ 27.10 มิลลิเมตร

  1. วิธีนับขีดแล้วคำนวณ

สำหรับวิธีนับขีดแล้วคำนวณ การอ่านค่าสเกลหลักเหมือนกับวิธีแรกคือ 27.XX มิลลิเมตร

แต่ค่าบนเวอร์เนียสเกลจะไม่ได้ดูจากตัวเลข แต่ให้นับขีดตั้งแต่หลังจากเลข 0 ไปจนถึงขีดที่ตรงกับสเกลหลัก นั่นคือนับขีดไปจนถึงขีดของเลข 1

ซึ่งจากภาพนับขีดบนเวอร์เนียได้ 5 ขีดแล้วนำไปคูณกับ 0.02 (ค่าเริ่มต้นจากการแบ่งส่วน 100 บนสเกล)

วิธีคิด  27.00 + (5 x 0.02) = 27 + 0.10 มม.

ดังนั้น ค่าที่ได้จากการคำนวณจึงเท่ากับ 27.10 มิลลิเมตร

ทั้ง 2 วิธีการวัดนี้จะเลือกวิธีคิดแบบใดก็ได้ แต่อย่าลืมว่าเวอร์เนียจะมีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ประมาณ   ± 0.05 ด้วย

 

ตัวอย่างการใช้เวอร์เนียหลากหลายรูปแบบ

สำหรับบทความนี้จะยกตัวอย่างออกมาเป็น 4 รูปแบบการใช้งาน ได้แก่

  1. การเรียนและการศึกษา

ในห้องเรียนสำหรับนักเรียนวิศวกรหรือนักเรียนช่าง โดยพื้นฐานแล้วจะต้องรู้จักการใช้งานเวอร์เนียคาลิปเปอร์เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นอุปกรณ์วัดละเอียดพื้นฐานที่จำเป็นอย่างมากในกลุ่มเครื่องมือช่าง

นอกจากนี้ยังใช้ในกลุ่มการเรียนประเภททดลองหรือวิชาฟิสิกส์ นำไปใช้วัดขนาดของวัตถุที่มีขนาด หรือรูปร่างแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะได้ค่าที่ละเอียดกว่าการใช้เครื่องมือวัดทั่วไป โดยนักเรียนหรือนักศึกษาสามารถทำการวัดขนาดแล้วได้ผลที่คลาดเคลื่อนน้อยลง และนำไปใช้งานต่อยอดได้ในอนาคต

  1. อุตสาหกรรมการผลิต

เวอร์เนียเป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดที่มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมการผลิตโลหะ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากการผลิตชิ้นงานจากโลหะต้องการความแม่นยำสูง เช่น การวัดขนาดของชิ้นงานที่ต้องนำมาประกอบกันให้เข้ากันได้พอดี จำเป็นต้องวัดขนาดของรูใน และขนาดภายนอกของชิ้นงานอีกชิ้นหนึ่งให้ประกอบเข้ากันได้พอดี

นอกจากนี้เวอร์เนียยังใช้ในการตรวจสอบคุณภาพจากการผลิตว่าขนาดของชิ้นงานให้เป็นไปตามความต้องการ ทั้งขนาด ความกว้าง ความยาว ความลึกให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตที่วางเอาไว้

  1. ความแม่นยำทางการแพทย์

การใช้เวอร์เนียในทางการแพทย์สำหรับการศัลยกรรมบางประเภทที่มีความละเอียดอ่อน หรือต้องการความแม่นยำสูง การวัดขนาดอย่างละเอียดด้วยคาลิปเปอร์ ช่วยให้สามารถวางแผนการศัลยกรรมออกมาได้เห็นภาพอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัด

  1. ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

นอกเหนือจากการใช้งานในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว คาลิปเปอร์ยังถูกใช้ในห้องแล็บส์ทดลองทางวิทยาศาสตร์บางชนิด เนื่องจากการทดลองจำเป็นต้องมีการวัดขนาดที่ต้องการค่าความละเอียดสูง เช่น การขยายตัวของโลหะเมื่อถูกทำปฏิกิริยาเคมี หรือเมื่อถูกความร้อน เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของโลหะชนิดต่างๆ เมื่อถูกนำไปใช้งาน

สรุปบทความ

เวอร์เนียเป็นเครื่องมือวัดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากสามารถวัดขนาดได้อย่างละเอียดในระดับมิลลิเมตร โดยที่ความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 0.05 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้มีการนำเวอร์เนียไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมที่แม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือการวัดขนาดอย่างละเอียด เพื่อนำค่าจากการวัดมาใช้ประโยชน์ต่อได้

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้ คุณสามารถติดต่อเราได้ที่นี่ ทางเราพร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่ ด้วยการให้คำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคด้านเครื่องมือและเครื่องจักรกลคุณภาพสูง

Sumipol-Calipers-ebook